อาการเสื่อมในร่างกายหลายชนิดมักเกิดจากการรับประทานอาหารและเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคเสียด้วย ซึ่งเรามักโทษว่าอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเป็นอาการเสื่อมตามวัยแล้วก่อให้เกิดโรคตามมา โรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารโรคหนึ่ง คือ อาการข้ออักเสบเฉียบพลัน ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณข้อต่างๆ ในร่างกาย และสุดท้ายเมื่อไปโรงพยาบาลจะได้รับการวินิจฉัยหลังการเจาะเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้วว่าเป็นโรคเก๊าท์ (Gouty arthritis)
อันตรายจากการปวดข้อเก๊าท์
1. ในระยะที่มีการอักเสบ จะพบว่าข้อบริเวณต่างๆ จะปวด บวม แดง ร้อน ข้อบริเวณนั้นไม่สามารถทำงานได้ จะมีความเจ็บปวดมากเมื่อขยับ เช่น หากปวดบริเวณข้อนิ้วอาจเป็นมากถึงขนาดหยิบจับสิ่งของไม่ได้ หากมีการอักเสบมากต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยการให้ยาแก้อักเสบทางหลอดเลือด
2. ผู้ที่มีภาวะกรดยูริกในเลือดสูงหากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว จะทำให้มีอัตราการกำเริบของโรคสูง รวมถึงมีโอกาสเสียชีวิตสูงตามมา
3. สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตเสื่อม หรือไตวายเรื้อรัง เนื่องจากกรดยูริกต้องขับออกทางไต การที่ไตเสื่อมจึงขัดขวางการขับกรดยูริก ทำให้อาการปวดข้อเก๊าท์กำเริบได้บ่อย อีกทั้งการที่กรดยูริกตกค้างที่ไต หากตกค้างมากเกินไปจะยิ่งทำให้ไตเสื่อมเร็วมากขึ้น
ผู้ที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเก๊าท์ คือ ผู้ที่มีกรดยูริก (Uric acid) ในเลือดมากกว่าปกติ โดยค่าปกติของผู้ชายอยู่ที่ 3.5-7.2 mg/dl และผู้หญิงอยู่ที่ 2.6-6.0 mg/dl โรคเก๊าท์จึงเป็นโรคที่เกิดจากการสะสมผลึกกรดยูริกไว้บริเวณข้อมากเกินไปจนเกิดการอักเสบ สาเหตุของการสะสมกรดยูริกมี 2 ชนิด คือ
1. ร่างกายได้รับกรดยูริกมากเกินไปจนขับออกไม่ได้ การที่ร่างกายมีการสะสมกรดยูริกมากส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีน (Purine) สูง ซึ่งสารตัวนี้มีอยู่มากในโปรตีน หรือเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ที่เรารับประทานเข้าไป รวมทั้งอาหารอีกหลายชนิด เมื่ออาหารเหล่านี้ผ่านกระบวนการย่อยสลายจะได้สารพิวรีนที่ก่อให้เกิดกรดยูริก
2. กระบวนการขับกรดยูริกในร่างกายบกพร่อง ร่างกายเราสามารถขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้ 2 ทาง คือ ขับออกจากระบบทางเดินปัสสาวะ ประมาณ 2 ใน 3 ของกรดยูริกทั้งหมด และ 1 ใน 3 ถูกขับออกจากระบบขับถ่าย หากกระบวนการขับกรดยูริกถูกขัดขวางจะทำให้มีกรดยูริกสะสมในร่างกาย
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเก๊าท์
1. ผู้ชายมีความเสี่ยงกับการเป็นโรคเก๊าท์มากกว่าผู้หญิง 20 เท่า โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป และผู้หญิงมีความเสี่ยงมากขึ้นในวัยหมดประจำเดือน เพราะฮอร์โมนผู้หญิงที่ลดลงทำให้กระบวนการขับกรดยูริกลดลง
2. ผู้ที่มีกรรมพันธุ์ พ่อ แม่ หรือญาติสายตรงเป็นโรคเก๊าท์
3. ผู้ที่มีพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ อาหารทะเลในปริมาณมาก รวมทั้งดื่มสุราหรือเบียร์
4. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
แน่นอนว่าการดูแลตัวเอง ลดความเสี่ยงต่อการสะสมกรดยูริกจนเกิดโรคเก๊าท์ ก็คือการดูแลเรื่องการรับประทานอาหารนั่นเอง ยิ่งผู้ที่มีอาการโรคข้ออักเสบเก๊าท์กำเริบยิ่งต้องจำกัดการรับประทานอาหารที่สร้างกรดยูริก
อาหารที่ต้องหลีกเลี่ยงในผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์ หรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
1. อาหารที่มีสารพิวรีนสูง (เทียบปริมาณอาหารนั้นใน 100 กรัม) มีสารพิวรีนมากกว่า 150 มิลลิกรัม ได้แก่ เนื้อไก่ เป็ด เครื่องใน ตับ ไต รวมทั้งอาหารที่หมักจากยีสต์ เช่น เบียร์ สุรา
2. อาหารที่มีสารพิวรีนปานกลาง มีสารพิวรีนมากกว่า 50-150 มิลลิกรัม ได้แก่ อาหารทะเล ปู กุ้ง หอย ถั่วต่างๆ หน่อไม้ฝรั่ง ผักโขม ชะอม กระถิน กะหล่ำ เห็ด ใบขี้เหล็ก สะตอ เมล็ดถั่วลันเตา
3. อาหารที่มีสารพิวรีนน้อย มีสารพิวรีนน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมได้แก่ ข้าวโพด ไข่ นม
คำแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารในผู้เป็นโรคเก๊าท์
1. รักษาสภาวะร่างกายให้อยู่ในสภาวะด่าง (Alkaline) แน่นอนว่าร่างกายที่อยู่ในสภาวะกรดตลอดเวลายิ่งส่งเสริมโรค การควบคุมร่างกายให้อยู่ในสภาวะด่าง คือ ลดอาหารโปรตีน รับประทานผัก ผลไม้ให้มากขึ้น แต่ในผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์ให้งดรับประทานยอดผักโดยเด็ดขาด
2. รับประทานอาหารทอดให้น้อยลง เพราะไขมัน หรือน้ำมันเป็นตัวขัดขวางการขับกรดยูริกออกจากร่างกาย
3. มีคำแนะนำว่าการรับประทานถั่วเมล็ดแห้งในปริมาณไม่มาก ผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์สามารถรับประทานได้ ตัวอย่างเช่น การรับประทานนมถั่วเหลืองสามารถดื่มได้วันละ 2 แก้ว แต่ห้ามดื่มมากกว่าวันละ 1 ลิตรขึ้นไป
4. ดื่มน้ำให้ได้วันละ 2-3 ลิตรขึ้นไป ในผู้ที่ไม่เป็นโรคไตเรื้อรัง หรือโรคหัวใจโต เพราะน้ำช่วยขับกรดยูริก
อาการป่วยหลายโรคในปัจจุบันล้วนเกิดจากการรับประทานอาหารตามใจปาก หรือการรับประทานอาหารแบบผิดๆ รับประทานอาหารเดิมซ้ำๆ การแก้ไขก็ขึ้นอยู่กับตัวเรา คือ การเลือกรับประทานอาหารให้ครบทั้งห้าหมู่ สับเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ อาการปวดข้อเก๊าท์ก็เช่นกัน การเลือกรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนน้อยจึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงกับโรคนี้ อีกทั้งในวัยหนุ่มสาวเราจะได้ระมัดระวังไม่รับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดการสะสมกรดยูริกแล้วรอทำร้ายเราเมื่ออายุมากขึ้น
แสดงความคิดเห็น