โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) เป็นโรคเกี่ยวกับข้อและกระดูกที่เป็นกันมาก แม้จะไม่ใช่โรคที่ก่ออันตรายจนน่ากลัวแต่ก็เป็นภัยเงียบที่เกิดกับประชาชนทุกวัย ในประชากร 1,000 คนจะพบว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม 113 คน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงอีกทั้งโรคนี้หากปล่อยให้ลุกลามจนถึงขั้นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าอาจต้องใช้เงินหลักหมื่นหรือหลักแสนเลยทีเดียว ดังนั้นการป้องกันตัวเองให้ถูกวิธีเพื่อหลีกหนีการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจึงเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เราทุกคนจึงควรใส่ใจอวัยวะนี้
ข้อเข่าเป็นอวัยวะที่อยู่ตรงกลางของร่างกาย ต้องรับน้ำหนักทั้งหมด จึงเป็นข้อที่มีการเสื่อมได้ง่ายและมากที่สุดในบรรดาข้อทั้งหมด เราจึงต้องใช้งานอย่างระมัดระวัง ข้อเข่าเสื่อมหมายถึงบริเวณผิวกระดูกอ่อนของข้อเสื่อมทำให้ผิวกระดูกบริเวณนั้นขรุขระ ไม่เรียบหรืออาจเกิดกระดูกงอกทำให้มีปัญหาปวดข้อเข่าตามมา
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมมีหลายอาการเริ่มจากเป็นในระยะอาการน้อย จนมีอาการมากทำให้ปวดเข่าจนรบกวนกิจวัตรประจำวัน อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมแบ่งเป็น 2 ระยะใหญ่ๆ คือ
1. ระยะที่ไม่มีการอักเสบ แต่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมชนิดเริ่มต้น
1.1 มีเสียงในข้อเข่าขณะเคลื่อนไหว หรือลุกนั่ง (Crepitus on motion) เกิดจากกระดูกอ่อนเสียดสีกันจนเกิดเสียงดัง ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาที่กระดูกเองหรือน้ำที่หล่อเลี้ยงข้อ (Synovial fluid) ลดลง
1.2 มีอาการปวดข้อเข่า ในระยะแรกอาจปวดเพียงเล็กน้อย อาจเริ่มปวดจากข้อเข่าข้างเดียวทำให้ผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมลงน้ำหนักขาในข้างที่ปกติทำให้ข้อเข่าข้างที่ปกติจะมีอาการเสื่อมตามมาในที่สุด อาการปวดข้อจะแสดงชัดหลังจากใช้ข้อนั้นนานๆ ถ้ามีอาการเสื่อมของข้อมากมักมีอาการปวดแม้เพียงขยับขาเล็กน้อย
1.3 ข้อเข่าฝืดแข็ง (Localized stiffness) จะมีอาการหลังพักขานานๆ แล้วขยับหรือมีอาการงอขาลำบาก เช่น หลังตื่นนอน หรือหลังนั่งนานๆ อาการจะดีขึ้นหลังขยับข้อเข่าช้าๆ 1-2 ครั้ง
1.4 ลักษณะการเคลื่อนไหวไม่ปกติหรือมีข้อจำกัด (Limitation of movement) เกิดจากข้อเข่าที่เสื่อมและมีกระดูกงอกทำให้ลักษณะการเคลื่อนไหวจำกัดไม่คล่องตัวตามปกติ
1.5 ข้อผิดรูปหรือพิการ (Joint deformity) ลักษณะที่พบคืออาจมีข้อเข่าโก่ง (Bowleg) ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะทำให้การเดินไม่มั่นคงหากทิ้งไว้นานจะมีอาการปวดข้อเข่ามาก
1.6 การเดินผิดปกติ (Gait disturbance) ลักษณะการเดินจะกะเผลกขาสองข้างไม่เท่ากันโดยเฉพาะเวลาเดินขึ้นหรือลงทางต่างระดับ
1.7 อาจเกิดภาวะข้อหลวม (Joint instability) ความมั่นคงของข้อเข่าลดลง เสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่ายและอาจทำให้มีอาการปวดข้อเข่ารุนแรง
1.8 กล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อเข่าลีบ (Muscle atrophy) กรณีนี้มักพบในระยะโรครุนแรง เกิดจากการที่ผู้ที่เป็นข้อเข่าเสื่อมไม่ใช้ข้อเข่าข้างนั้นจากอาการปวดทำให้กล้ามเนื้อลีบ
2. ระยะมีการอักเสบของข้อเข่า
2.1 ข้อเข่าบวมโตขึ้น (Joint enlargement) เกิดจากมีน้ำในข้อมากขึ้น หรือมีกระดูกงอกทำให้ข้อเข่าบวมโตผิดรูป
2.2 กดเจ็บที่ข้อเข่า (Joint tenderness) อาจเจ็บเวลาขยับ หากสัมผัสหรือกดจะมีอาการเจ็บมากขึ้น
2.3 ข้อเข่าอุ่น (Joint warmth) สัมผัสบริเวณข้อเข่าจะรู้สึกอุ่น หรือร้อนมากกว่าบริเวณอื่น
สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อมมีปัจจัยทำให้เกิดอาการหลายปัจจัย โดยแบ่งได้ดังต่อไปนี้ คือ
1. เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดทำให้เข่าผิดรูปเมื่อเติบโตขึ้นและใช้ข้อเข่าไปนานก็ทำให้ข้อเข่าสึกและเสื่อมได้เร็วกว่าปกติ
2. อายุที่มากขึ้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี มวลกระดูกลดลง อีกทั้งผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนก็มีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมสูงกว่าผู้ชาย จากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยสะสมแคลเซียมไว้ในกระดูก
3. มีการใช้ข้อเข่าหักโหมติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น การคุกเข่า การนั่งยองๆ นั่งพับเพียบหรือขัดสมาธิเป็นเวลานาน
4. การมีน้ำหนักตัวมาก โดยวัดจากดัชนีมวลกายของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และ The Asia- Pacific Perspective : Redefinding obesity and its treatment Feb 2000 วิธีการคำนวณ คือ BMI (Body Mass Index) = น้ำหนัก (กิโลกรัม) ÷ ส่วนสูง (เมตร ยกกำลัง 2) หรือ kg/m2 หากดัชนีมวลกายมากกว่า 23 ถือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม เพราะเข่าต้องรับน้ำหนักตัวมาก
5. การใส่รองเท้าส้นสูงติดต่อกันเป็นเวลานานและเป็นประจำ ทำให้ข้อเข่ามีแรงกดทับมากกว่าปกติ
6. เกิดจากโรคของข้อต่างๆ เช่น โรคไขข้อรูมาตอยด์ โรคเก๊าท์
7. เกิดจากอุบัติเหตุทำให้กระดูกข้อเข่าได้รับบาดเจ็บ
วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
1. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ ดัชนีมวลกาย (BMI) น้อยกว่า 23 ก็จะช่วยลดการกดน้ำหนักของร่างกายลงไปที่ข้อเข่า
2. การออกกำลังกาย มีหลายทฤษฎีกังวลว่าการออกกำลัง เช่น การวิ่ง การเต้นแอโรบิค จะเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่จริงๆ แล้วการออกกำลังกายของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี จะเป็นการเพิ่มค่ามวลกระดูกให้แข็งแรง หากเราออกกำลังกายต่อเนื่องก็จะช่วยลดความเสื่อมของข้อเข่า แต่หากกังวลมากก็อาจปรับเปลี่ยนการออกกำลังกายเป็นการว่ายน้ำ หรือเดินเร็ว
3. ในการดำเนินกิจวัตร หรือการทำงานต้องมีการปรับเปลี่ยนอิริยาบถทุก 2 ชั่วโมง ไม่นั่งหรือยืนนานโดยไม่เปลี่ยนแปลงท่าทาง เพราะจะทำให้กระดูกข้อเข่าเสื่อม อีกทั้งท่าทางการยืนไม่ควรลงน้ำหนักที่ขาข้างเดียว เช่น การยืนงอเข่า หรือพักเข่าข้างเดียว เพราะจะทำให้ข้อข้างที่ใช้งานต้องรับน้ำหนักมากเกินไป
4. หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงตลอดเวลา
5. การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบอย่างสม่ำเสมอ โดยในหนึ่งวันคนเราต้องได้รับแคลเซียมวันละ 1,000-1,200 มิลลิกรัม ซึ่งแคลเซียมพบมากในนมวัว นมถั่วเหลือง ปลาเล็กปลาน้อยที่รับประทานทั้งกระดูก เต้าหู้
6. การรับประทานยาแก้ปวด หรือยากลุ่มสเตียรอยด์ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะยาบางตัวจะทำให้มวลกระดูกลดลง และกระดูกเสื่อมได้
การวินิจฉัยว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
1. ผู้ที่มาตรวจมักจะมีอาการปวดเข่านำมา การวินิจฉัยอันดับแรก คือ การตรวจร่างกาย อาการปวดบวมข้อเข่า การซักประวัติ
2. การตรวจทางรังสีวิทยา (X-Ray)
3. การตรวจเลือด น้ำข้อเข่าทางห้องปฏิบัติการ
4. การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
วิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. การรักษาแบบประคับประคอง
1.1 ในช่วงที่มีอาการไม่มาก เช่น ได้ยินเสียงขณะขยับเข่า หรือมีอาการปวดหลังใช้งานข้อเข่ามาสักระยะ อาจสวมสนับเข่าเพื่อช่วยพยุงข้อเข่า
1.2 หากมีอาการปวดไม่มากแพทย์จะให้ยาบรรเทาปวด หรือหากมีข้อเข่า ปวด แดง ร้อนที่แสดงถึงการอักเสบ แพทย์จะให้ยาแก้อักเสบโดยยาที่แพทย์ให้ก็มีทั้งชนิดรับประทาน ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาปวด หรือแม้กระทั่งยาที่ใช้ฉีดเข้าที่ข้อเข่าเพื่อลดอาการปวด
1.3 ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกระแทกข้อเข่า
1.4 หากมีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 23 ให้ลดน้ำหนักเพื่อลดการกดบริเวณข้อเข่า
1.5 ทำกายภาพบำบัด โดยแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดจะนัดทำกายภาพจนกว่าอาการจะทุเลา
2. การรักษาโดยการผ่าตัด หากการรักษาแบบประคับประคองไม่ได้ผลดี ยังมีอาการปวดข้อเข่าจนทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ ปวดมากแม้ขณะพัก แพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดข้อเข่าเทียม
2.1 การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้านเดียว (Unicompartmental Knee Arthroplasty : UKA) จะผ่าตัดกรณีข้อเข่าไม่โก่งมาก ลูกสะบ้าที่ข้อเข่ายังไม่ได้รับความเสียหาย วิธีการผ่าตัดมักผ่าเปลี่ยนข้อเข่าด้านใน แผลผ่าตัดไม่ใหญ่มากและสามารถฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็ว
2.2 การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ (Total Knee Replacement) เป็นการเปลี่ยนผิวที่คลุมข้อเข่าทั้งหมด วิธีการโดยการนำข้อเข่าเทียบเข้าไปครอบกระดูกข้อเข่าที่เสื่อม วิธีการผ่าตัดแบบนี้จะทำกรณีที่ข้อเข่าเสื่อมมาก
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
1. โรคข้อเข่าเสื่อมอาการแรกๆที่พบคืออาการปวดเข่า หากมีอาการปวดไม่ควรซื้อยาแก้ปวดรับประทานเองควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะยาบางตัวมีฤทธิ์กัดกระเพาะมาก ยาบางตัวทำให้ไตเสื่อม และยาแก้ปวดบางตัวทำให้มวลกระดูกลดลง
2. เปลี่ยนท่าทางกิจวัตร หรือท่าทางการทำงานทุก 2 ชั่วโมง งดการนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ
3. หากเป็นผู้หญิงให้งดใส่รองเท้าส้นสูง
4. ทำกายภาพบำบัดตามที่แพทย์หรือนักกายภาพบำบัดสอน และไปทำกายภาพบำบัดตามที่แพทย์นัดโดยเคร่งครัด
อาหารที่ควรรับประทานเมื่อเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
1. อาหาร 5 หมู่ตามหลักโภชนาการ คือ แป้ง โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ ไขมันและน้ำ
2. เสริมอาหารอุดมแคลเซียม เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ปลาเล็กปลาน้อย ถั่ว งา โดยอาหารกลุ่มนี้ 100 กรัมให้แคลเซียมมากกว่า 500 มิลลิกรัม
3. เพื่อการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายได้ดีมีความจำเป็นต้องเสริมวิตามินดี (Vitamin D) โดยวิตามินตัวนี้มีในแสงแดดและพบในอาหาร เช่น ถั่ว นม ปลา ชีส
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
1. งดสูบบุหรี่ สาเหตุแรก คือ บุหรี่เป็นสารที่ทำให้หลอดเลือดขาดความยืดหยุ่นจึงทำให้เลือดไปเลี้ยงข้อต่างๆไม่เพียงพอ จนทำให้เกิดภาวะข้อเสื่อมในที่สุด และอีกสาเหตุบุหรี่เป็นสารที่ทำให้แคลเซียมในมวลกระดูกถูกทำลายจนเกิดภาวะกระดูกบาง
2. งดดื่มสุรา เพราะเป็นเครื่องดื่มที่มีสารพิวรีน (Purine) สูง ซึ่งสารนี้จะไปตกค้างอยู่บริเวณข้อต่างๆ ในระยะยาวจะทำให้ข้อฝืด ติด และเสื่อมได้
3. น้ำอัดลม เป็นตัวยับยั้งการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย
4. ถ้ามีอายุมากกว่า 50 ปี และมีอาการปวดข้อเข่า หรือมีเสียงเวลางอข้อเข่า ควรหลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารหมักดอง ขนมถุงปรุงรส เพราะอาหารเหล่านี้ทำให้ร่างกายมีภาวะเป็นกรด เกิดผลึกไปเกาะตามข้อต่างๆ ทำให้มีอาการปวด บวมข้อตามมา
จะเห็นว่าโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่เราสามารถป้องกัน และชะลอการเสื่อมได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการดูแลตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะทำเพื่อดูแลตัวเองเพราะหากเราปล่อยให้ความเคยชินทำลายข้อเข่าของเราแล้ว เราก็ต้องเสียเวลารักษา ต้องทนอยู่กับความเจ็บปวด และท้ายที่สุดต้องจ่ายเงินค่ารักษาราคาแพง ดังนั้นเราจึงควรใส่ใจและดูแลสุขภาพตัวเองให้ห่างไกลจากความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจะดีกว่า
แสดงความคิดเห็น