ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) โรคที่ทุกคนรู้จักแต่ไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึง เพราะเป็นโรคในส่วนที่ลับจะปรึกษาใครก็อาย จะไปหาหมอก็อายต้องรอให้อาการลุกลามเจ็บปวด หรือมีการอักเสบเป็นไข้ก่อนจึงจะไปพบแพทย์ ที่ทุกคนรู้จักโรคริดสีดวงทวารนั่นแสดงว่าหลายคนเป็นโรคนี้อยู่และรอเพียงเมื่อไหร่อาการจะแย่ลงจะได้ไปตรวจ ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่ควรรอให้เป็นโรคริดสีดวงทวาร เพราะโรคนี้ป้องกันได้ ดูแลได้ด้วยตัวเอง จะได้ไม่ต้องกังวลอยู่คนเดียวและไม่ต้องรอเวลาให้เป็นหนักๆ จนรักษายาก
อาการของโรคริดสีดวงทวาร
อาการของโรคริดสีดวงทวารในระยะแรกอาจพบมีอาการท้องผูก เบ่งถ่ายยาก และมีเลือดออกหลังถ่าย ในระยะต่อมามักมีอาการปวดเบ่ง มีเลือดหรือมูกหลังเบ่งถ่าย มีก้อนริดสีดวงโผล่ออกมา อาจดันกลับได้หรือดันกลับไม่ได้ และหากปล่อยไว้รุนแรงก้อนริดสีดวงจะโตขึ้นและหลุดออกมานอกทวารและไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้
สาเหตุของการเป็นโรคริดสีดวงทวาร
เกิดจากหลอดเลือดดำหรือเนื้อเยื่อรอบทวารหนักมีความดันสูงทำให้เนื้อเยื่อโป่งพอง ซึ่งความดันในบริเวณนี้จะโป่งพองได้ก็เกิดจากการเบ่งถ่าย ยิ่งเบ่งถ่ายออกแรงมากและเวลานาน ยิ่งเพิ่มความดันให้เส้นเลือดและเนื้อเยื่อ เมื่อเส้นเลือดและเนื้อเยื่อมีการโป่งพองไปนานๆ ก็กลายเป็นริดสีดวงที่มีขนาดโตขึ้นตามความรุนแรงของโรค
นอกจากสาเหตุหลักแล้วยังมีกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคริดสีดวงทวาร คือ
1. นอกจากสาเหตุจากท้องผูกแล้วผู้ที่ชอบนั่งแช่ระหว่างขับถ่ายเป็นเวลานานๆ ก็มีโอกาสสร้างความดันให้หลอดเลือดและเนื้อเยื่อส่วนทวาร กลุ่มนี้ เช่น ผู้ที่เล่นโทรศัพท์ หรือนั่งอ่านหนังสือไปเรื่อย
2. นอกจากอาการท้องผูกแล้ว อาการท้องเสียเรื้อรังก็เป็นสาเหตุเพิ่มความดันให้หลอดเลือดและเนื้อเยื่อบริเวณทวารหนักได้เช่นกัน
3. พันธุกรรม พบว่า ผู้ที่มาจากครอบครัวของผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวารมีโอกาสเกิดโรคริดสีดวงทวารมากกว่าผู้ที่ครอบครัวไม่มีประวัติการเป็นโรคริดสีดวงทวาร
4. อายุมากขึ้นทำให้เนื้อเยื่อ หูรูดทวารหนักเสื่อม ประกอบกับอาการถ่ายยาก ท้องผูกง่ายตามวัยก็ทำให้เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคริดสีดวงทวาร
5. ภาวะน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มความดันให้หลอดเลือดและเนื้อเยื่อส่วนทวารหนัก
6. ความผิดปกติของลิ้นปิดเปิดที่หลอดเลือดบริเวณทวารหนัก ซึ่งมักเป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดแต่สาเหตุนี้พบได้น้อยและมักได้รับการรักษาตั้งแต่วัยเด็ก
ประเภทของโรคริดสีดวงทวาร
ในทางการแพทย์โรคริดสีดวงทวารมีการแบ่งออกเป็น 2 ประเภทเพื่อที่ง่ายต่อการวินิจฉัย และการรักษา คือ
1. ริดสีดวงทวารภายใน (Internal Hemorrhoids) ริดสีดวงประเภทนี้อาจมองไม่เห็นก้อนริดสีดวงทวารแต่จะสังเกตได้ว่าเป็นโรคริดสีดวงทวาร คือ หลังถ่ายอุจจาระจะมีเลือดหยดออกมา
2. ริดสีดวงทวารภายนอก (External Hemorrhoids) จะเห็นก้อนเนื้อออกมาจากทวารหนักชัดเจน ก้อนริดสีดวงอาจหลุดกลับเข้าไปเองได้หรืออาจต้องดันกลับเข้าไป หากเป็นในระยะหลังๆ แม้จะใช้มือดันก้อนริดสีดวงก็ไม่กลับเข้าไปในทวารหนัก
วิธีดูแลตนเองเพื่อป้องกันการเป็นโรคริดสีดวงทวาร
สำหรับผู้ที่ไม่อยากเป็นโรคริดสีดวงทวาร ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการทำกิจวัตรประจำวัน เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรค คือ
1. ในแต่ละวันควรรับประทานผัก ผลไม้ให้มาก เพื่อเพิ่มปริมาณกากใยช่วยในเรื่องการขับถ่าย เพราะหากเรารับประทานแต่เนื้อสัตว์ ข้าวหรือแป้งที่ผ่านการขัดขาวเหล่านี้ล้วนให้กากใยอาหารน้อย ทำให้ขับถ่ายยากและท้องผูก
2. ดื่มน้ำให้ได้วันละ 6-8 แก้ว ในผู้ที่ไม่เป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายหรือโรคหัวใจระยะที่มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ขา หรือเท้า เพราะน้ำจะช่วยให้เศษอาหารที่จะขับออกทางระบบขับถ่ายอ่อนนุ่ม ช่วยให้ถ่ายอุจจาระได้ง่าย
3. ฝึกการขับถ่ายให้ได้ในเวลาเช้าหลังตื่นนอน ขณะขับถ่ายไม่ควรทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น เล่นโทรศัพท์ หรืออ่านหนังสือ เพราะกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เรานั่งขับถ่ายนานขึ้น ซึ่งส่งผลต่อหลอดเลือดและเนื้อเยื่อที่ทวารหนัก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร
4. หากมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน ต้องลดน้ำหนัก เพื่อป้องกันความดันที่หลอดเลือดและเนื้อเยื่อที่ทวารหนักมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก
5. การออกกำลังกาย เป็นการกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนอาหารออกไปกำจัดทิ้ง หากมีปัญหาท้องอืด ท้องผูก ควรออกกำลังกายเป็นประจำ หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
แนวทางการรักษาโรคริดสีดวงทวาร
ก่อนจะเข้าถึงประเภทของการรักษาโรคริดสีดวงทวาร เราต้องมาทำความรู้จักกับระยะการดำเนินโรคของริดสีดวงทวาร เพราะแพทย์จะใช้การแบ่งระยะของโรคในการรักษา โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
1. ระยะที่ 1 เป็นระยะที่เพิ่งเริ่มเป็นริดสีดวงทวาร แต่จะเป็นระยะที่ผู้ป่วยจะตกใจจากภาวะมีเลือดออกหลังถ่ายอุจจาระ แต่ไม่มีก้อนริดสีดวงโผล่ออกจากทวารหนัก
2. ระยะที่ 2 เมื่อผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวารเบ่งถ่ายจะมีก้อนริดสีดวงออกมาและจะกลับเข้าไปภายในทวารเองเมื่อหยุดเบ่ง
3. ระยะที่ 3 ก้อนริดสีดวงทวารโผล่ออกมาขณะถ่ายและไม่สามารถกลับเข้าไปได้เอง ต้องใช้นิ้วช่วยดันกลับเข้าไป
4. ระยะที่ 4 ก้อนริดสีดวงทวารปรากฏอยู่ภายนอกทวารหนักตลอดเวลา และไม่สามารถดันกลับเข้าไปภายในได้
การรักษาโรคริดสีดวงทวารมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับอาการ บริเวณของก้อนริดสีดวง และขนาดของก้อนริดสีดวงทวาร ซึ่งแต่ละวิธีการรักษาก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ผู้รักษา วิธีการรักษาคร่าวๆ คือ
1. หากเป็นในระยะแรกที่ก้อนยังเล็กอยู่ ไม่มีเลือดออกมากหลังถ่ายอุจจาระ แพทย์จะให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การขับถ่าย อาจใช้ยาเหน็บช่วยลดความรุนแรงของก้อนริดสีดวงทวาร
2. การฉีดยาให้ริดสีดวงทวารฝ่อเอง (Sclerosing Injection) วิธีการนี้จะใช้ได้ผลกรณีหัวริดสีดวงทวารไม่โตมาก
3. การรัดก้อนริดสีดวงด้วยยาง (Rubber band ligation) วิธีนี้จะใช้ได้เมื่อมีก้อนริดสีดวงโผล่ออกมาทางทวาร อาจจะดันกลับเข้าไปได้หรือไม่ได้ ก็สามารถใช้ยางรัดได้ การรักษาริดสีดวงทวารวิธีการนี้ทำให้ริดสีดวงค่อยๆ ฝ่อไปเอง ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดถ่วงทวารบ้างขณะที่ใช้ยางรัดแต่จะปวดไม่มาก
4. การผ่าตัดเอาก้อนริดสีดวงทวารออก เหมาะกับก้อนริดสีดวงทวารที่โผล่ออกมาจากทวารและไม่สามารถหดกลับเข้าไปได้
วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคริดสีดวงทวาร
1. ดูแลเรื่องการขับถ่าย ไม่ให้มีอาการท้องผูก เพราะหากท้องผูกจนต้องเบ่งถ่าย ยิ่งจะเพิ่มความดันที่หลอดเลือดและเนื้อเยื่อส่วนทวารหนัก ทำให้ขนาดของริดสีดวงทวารยิ่งใหญ่ขึ้นและการรักษาต้องซับซ้อนขึ้น
2. รับประทานผัก ผลไม้เพิ่ม โดยเฉพาะผัก ผลไม้ที่มีเยื่อเมือกมาก เช่น ผักบุ้ง แตงกวา เสาวรส เม็ดแมงลัก เพราะผัก ผลไม้ที่มีเยื่อเมือกสูงนอกจากจะมีใยอาหารสูงแล้ว เยื่อเมือกเหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นสารช่วยหล่อลื่นเศษอาหารให้ขับถ่ายออกง่าย ลดแรงเบ่ง
3. ในระหว่างที่เป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก ให้เพิ่มปริมาณน้ำดื่มเป็นวันละ 8-10 แก้ว ในกรณีที่ไม่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง หรือโรคหัวใจระยะมีอาการบวมตามร่างกาย หากเป็นโรคนี้อาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อขอยาระบาย
4. พบแพทย์ตามที่แพทย์นัดเพื่อดูอาการ หากอาการของริดสีดวงทวารแย่ลง มีเลือดออกมากหลังขับถ่ายต้องมาพบแพทย์ทันที
อาหารที่ควรรับประทานสำหรับผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวาร
1. ผักที่มีใยอาหารสูง เช่น ผักบุ้ง ผักปลัง แตงกวา ผักเหล่านี้จะกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้เพื่อขับของเสียออกทิ้ง อีกทั้งยังช่วยให้เศษอาหารลื่น ช่วยป้องกันและบรรเทาอาการท้องผูก
2. ผลไม้ที่มีเยื่อเมือกมาก เช่น เสาวรสช่วยให้เศษอาหารนิ่มและลื่น ขับถ่ายออกได้ง่าย
3. ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท เป็นแป้งที่มีเส้นใยอาหารอยู่มาก จึงช่วยเรื่องการขับถ่าย กระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้ขับเศษอาหารออก
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวาร
1. แป้ง หรือข้าวขัดขาว เพราะกลุ่มนี้จะมีใยอาหารอยู่น้อยกว่าข้าว หรือแป้งที่ไม่ผ่านการขัดขาว
2. น้ำอัดลมต่างๆ เพราะยิ่งเพิ่มแรงดันให้กับหลอดเลือดและเนื้อเยื่อส่วนทวารหนัก
3. ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ ล้วนเป็นสาเหตุให้มีอาการท้องผูก จึงควรหลีกเลี่ยง หรือหากเลี่ยงไม่ได้ก็ให้เพิ่มปริมาณผัก ผลไม้ที่มีใยอาหารสูง
4. มื้อค่ำควรลดปริมาณการรับประทานเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู เพราะโปรตีนเหล่านี้ย่อยยาก รบกวนการทำงานของกระเพาะอาหารและระบบขับถ่าย
สมุนไพรรักษาโรคริดสีดวงทวาร
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสมุนไพรอยู่มากมายและเรายังโชคดีที่ยังมีสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวารด้วย เช่น
1. เพชรสังฆาต เป็นสมุนไพรที่ได้รับการวิจัยและพัฒนาเพื่อใช้รักษาโรคริดสีดวงทวาร มีสรรพคุณเทียบเท่ากับยารักษาริดสีดวงทวารแผนปัจจุบันที่ชื่อ ดาฟลอน (Daflon) ให้รับประทาน 2 เวลา เช้าและเย็น ครั้งละ 1 ปล้อง วิธีการรับประทาน คือ ใช้กล้วยหุ้มแล้วกลืนเลย ห้ามเคี้ยวเพราะสารในเพชรสังฆาตจะระคายเคืองเยื่อบุอ่อนที่ปากและคอ รับประทานติดต่อกัน 10-15 วัน ระหว่างนี้ให้สังเกตอาการพิษที่เกิดขึ้น คือ หากมีภาวะตัวหรือตาเหลืองให้หยุดรับประทานทันที หากจะให้ปลอดภัยปัจจุบันมีเพชรสังฆาตสกัดแคปซูลซึ่งมีราคาถูกกว่าดาฟลอน และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทาน
2. ว่านหางจระเข้ เป็นสมุนไพรรักษาโรคริดสีดวงทวาร ใช้ได้ทั้งรับประทานและเหน็บที่ทวารหนักเพื่อลดอาการของโรคริดสีดวงทวาร
2.1 ว่านหางจระเข้ใช้รับประทานลดอาการของโรคริดสีดวงทวาร โดยนำใบว่านหางจระเข้ที่แก่แล้วมาปอกเปลือก ล้างเอาเมือกสีเหลืองออก รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ในเวลาเช้าและก่อนเข้านอน รับประทานติดต่อกันนาน 15-20 วัน อาการริดสีดวงทวารจะดีขึ้น ขนาดก้อนริดสีดวงจะไม่ใหญ่ขึ้น บางคนอาจรับประทานว่านหางจระเข้สดๆ ไม่ได้ก็อาจผสมกับน้ำขิง หรือน้ำผึ้งดื่มได้
2.2 ว่านหางจระเข้เหน็บรักษาอาการโรคริดสีดวงทวาร โดยใช้ว่านหางจระเข้แก่มาปอกเปลือก ล้างเมือกเหลืองออกให้สะอาด เอาแต่วุ้นใสๆ หั่นเป็นแท่งเหน็บทวารหนักก่อนนอนประมาณ 1 สัปดาห์ อาการริดสีดวงทวารจะทุเลา ไม่มีอาการเลือดไหลหลังถ่ายอุจจาระ
3. กระชาย-มะขาม สูตรนี้เหมาะกับผู้ที่เป็นริดสีดวงทวารระยะเริ่มแรก หรือก้อนริดสีดวงสามารถดันกลับเข้าไปได้ โดยการนำกระชายและมะขามเปียกอย่างละ 50 กรัม มาต้มกับน้ำ 1 ถ้วย ใส่เกลือป่นเล็กน้อย หากเป็นโรคไตไม่ต้องใส่เกลือให้ผสมน้ำผึ้งเล็กน้อยก่อนดื่มน้ำต้มกระชายมะขาม ใช้ดื่มก่อนนอน
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคริดสีดวงทวารไม่ใช่เรื่องยากเลยง่ายกว่าปล่อยให้เป็นแล้วต้องไปรักษากับแพทย์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนาน และคนที่เป็นโรคริดสีดวงทวารก็มักจะไปรักษาช้าทำให้อาการลุกลามเพราะความอาย ถ้าเราไม่อยากอายไม่อยากเป็นโรคริดสีดวงทวารลองมาปรับพฤติกรรมการกิน ปรับกิจวัตรประจำวันดังที่กล่าวมาในบทความข้างต้น เพื่อที่เราจะได้มีระบบการขับถ่ายที่มีคุณภาพ ห่างไกลจากโรคริดสีดวงทวาร ไม่ต้องกังวลว่าจะมีเลือดออกหลังขับถ่ายหรือมีก้อนริดสีดวงทวารโผล่ให้กลุ้มใจ
แสดงความคิดเห็น