ไขมันในร่างกายมีไว้เพื่อเป็นพลังงานสำรองให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายและป้องกันการกระแทกแต่หากมีไขมันมากเกินไปถือว่าเป็นโรคอ้วนซึ่งโรคนี้หมายถึงการมีปริมาณไขมันมากผิดปกติไม่ได้หมายถึงการมีน้ำหนักมากอย่างเดียวโรคอ้วนเป็นโรคที่เกิดจากร่างกายสะสมพลังงานจากการรับประทานอาหารมากกว่าการเผาผลาญอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
โรคอ้วนลงพุงหรือ Metabolic syndrome หมายถึงกลุ่มโรคที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารที่ผิดปกติทำให้คนอ้วนลงพุงจะมีการสะสมของไขมันบริเวณช่วงเอวหรือช่องท้องในปริมาณมากเกินไปซึ่งไขมันเหล่านี้จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับมีผลให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานนอกจากนี้ยังส่งผลทำให้เกิดโรคไขมันในเลือดผิดปกติความดันโลหิตสูงในที่สุดจะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายหลายระบบ
เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีภาวะอ้วนลงพุง?
สิ่งที่จะบอกว่าคนใดมีน้ำหนักเกินหรืออ้วนนั้นมีวิธีการคัดกรองภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนดังนี้
1. ดัชนีมวลกาย(Body mass index = BMI) เป็นค่าดัชนีความสัมพันธ์ระหว่างส่วนสูงและน้ำหนักตัวโดยคำนวณได้จากน้ำหนักตัว(หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วยความสูง (หน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง) เกณฑ์สำหรับประชากรคนไทยถ้าค่าดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ23 กิโลกรัมต่อตารางเมตรแสดงว่าเริ่มมีภาวะน้ำหนักเกินและค่าดัชนีมวลกายที่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรหมายถึงอ้วน
2. เส้นรอบเอว (Waist circumference) เป็นค่าที่ได้จากการวัดรอบเอวด้วยสายวัดมาตรฐานโดยอยู่ในท่ายืนแล้วใช้สายวัดวัดรอบเอวซึ่งภาวะอ้วนลงพุงหมายถึงผู้ที่มีไขมันของอวัยวะภายในช่องท้องมากกว่าปกติโดยผู้ชายถือว่าอ้วนเมื่อมีความยาวเส้นรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 ซม. (หรือ 36 นิ้ว)และในผู้หญิงจะถือว่าอ้วนเมื่อมีความยาวเส้นรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 80 ซม. (หรือ 32 นิ้ว )
ปัจจัยใดบ้างทำให้เกิดภาวะอ้วน
1. พฤติกรรมการบริโภคการบริโภคอาหารมากเกินความจำเป็นโดยเฉพาะอาหารหวานมันเค็มพฤติกรรมรับประทานอาหารพลังงานสูงอาหารหวาน/น้ำหวานในรูปต่างๆเพิ่มขึ้น
2. การไม่ออกกำลังกาย
3. กรรมพันธุ์ปัจจัยทางด้านกรรมพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคอ้วนพบได้น้อยมากการที่มีสมาชิกในครอบครัวอ้วนมักเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานและรูปแบบการใช้ชีวิตที่คล้ายกันของสมาชิกในครอบครัวมากกว่า
4. อุปนิสัยคล้ายหรือเหมือนกันของคนในครอบครัวผู้ใกล้ชิดไม่ว่าจะด้านการออกกำลังกายพฤติกรรมการรับประทานที่คล้ายๆกัน
5. ปัญหาสุขภาพบางโรคทำให้เกิดเป็นโรคอ้วนได้ง่ายเช่นโรคของต่อมไทรอยด์ที่ทำงานน้อยกว่าปกติหรือโรคเนื้องอกที่รังไข่ เป็นต้น
6. ยาบางชนิดซึ่งจะมีผลต่อน้ำหนักเช่นยากันชักยาต้านโรคซึมเศร้า
7. อายุมากขึ้นส่งผลให้การเผาผลาญพลังงานของร่างกายจะช้าลงจึงเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคอ้วนโดยเฉพาะในหญิงวัยทอง
8. การนอนไม่เพียงพอฮอร์โมนบางตัวจะถูกปล่อยออกมาเฉพาะขณะที่กำลังหลับเช่นอินซูลินที่ควบคุมระดับน้ำตาลคนที่นอนไม่พอจะมีระดับของอินซูลินตํ่า
ภาวะอ้วนลงพุงมีอันตรายอย่างไร
1. ทำให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบเกิดโรคหัวใจได้ง่าย
2. ไตจะขับเกลือออกได้น้อยลงทำให้เกิดความดันโลหิตสูง
3. ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ที่สูงเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดตีบ
4. เลือดจะแข็งตัวได้ง่ายทำให้อุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองหรือหัวใจ
5. เป็นโรคเบาหวานได้ง่าย
6. หัวใจวายไตวาย
7. ระบบหายใจหายใจไม่เต็มอิ่มไม่เต็มปอดเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
8. โรคมะเร็ง
9. โรคข้อเสื่อม ความเสี่ยงต่อโรคข้ออักเสบ ปวดหลัง ปวดเข่า
10. ง่วงซึม
11. ผลกระทบด้านอารมณ์ ขาดความมั่นใจ นับถือตนเองลดลง
12. มีโอกาสเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้
วิธีการป้องกันโรคอ้วนลงพุง
โรคอ้วนสามารถป้องกันได้โดยการสร้างเสริมนิสัยการรับประทานอาหารที่ดีไม่ควรรับประทานอาหารรสหวานจัดขนมจุบจิบไม่มีประโยชน์หรือที่มีไขมันมากเกินไปควรรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ครบ 3 มื้อในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสมตามช่วงอายุและวัยการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์และครั้งละไม่น้อยกว่า 30 นาทีรวมถึงการลดละเลิกบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช้สารเสพติดการนอนหลับพักผ่อนและการดำเนินชีวิตตามวิถีธรรมชาติอย่างพอใจและพอเพียงเพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันโรคอ้วนลงพุงได้และมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างมีความสุข
แสดงความคิดเห็น